วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความหมายศรัทธา
      ศรัทธา คือ พลังแห่งความเชื่อมั่น ศรัทธาเป็นพลังช่วยให้ความอยาก ความปรารถนาประสบความสำเร็จให้ง่ายขึ้น
"ศรัทธา"เป็นความเชื่อมั่นที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ที่แท้จริง
        หมายถึง ในแต่ละความเชื่อศรัทธาต้องผ่านการวิเคราะห์ มีการพิสูจน์อย่างมีเหตุผล ให้เป็นไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งทางจิตและกายภาพ เรียกว่า ความศรัทธาที่แท้จริง(เป็นศรัทธาในองค์ความรู้ ไม่ใช่สิ่งงมงาย)
การศรัทธาในตัวบุคคลหรือศรัทธาในวัตถุ หรือแม้แต่ศรัทธาในนามธรรม เช่น เทพ ไม่ถือเป็นศรัทธาในองค์ความรู้ หากแต่เป็นความยึดมั่นถือมั่น  เป็นความเชื่อศรัทธาที่งมงาย   ศรัทธาที่งมงายจะถูกทำลายได้ง่าย  เมื่อศรัทธาถูกทำลายความตั้งใจจริงก็จะอ่อนลง ความสำเร็จก็จะยากขึ้น 
องค์ประกอบความสำเร็จ
ความปรารถนาสนับสนุนความสำเร็จ
ศรัทธาที่แกร่งกล้าจะสร้างความปรารถนาให้มีพลังเข้มแข็งและนำพาเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย

 หลักธรรมในการศรัทธาในวิชาชีพครู
-                         -         อริยสัจ 4
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
4. มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3.สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

-                   ฆราวาสธรรม 4
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
1.             สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
2.             ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
3.             ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส
4.             จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ
ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

-                   พรมวิหาร 4
พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ผู้ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ
1.             เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
2.             กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
3.             มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข
พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)
-                   พละ 4
           พละ 4 หมายถึง หลักธรรม 4 ประการที่เป็นกำลังในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จด้วยความมั่นใจและปลอดภัยมีดังนี้
   1. ปัญญาพละ หมายถึง ปัญญาที่เป็นกำลัง ให้รู้ดี รู้ชอบ รู้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรทั้งกายและใจ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข คนทุกคนมีปัญญาแต่ไม่เท่ากัน คนที่มีปัญญาดีอาจจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้มากกว่า ส่วนคนที่มีความรู้หรือปัญญาไม่ดีสะสมเพิ่มพูนได้เพราะปัญญาเกิดขึ้นโดย 3 ทาง คือ
      1.1 ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน คือได้รับการถ่ายทอดจากผู้อื่นโดยการฟังการอ่าน 
      1.2 ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง ตามพื้นฐานพันธุกรรม เช่น ฟังเรื่อง การปลูกฟักทอง กว่าจะได้ผลอีก 65 วัน แล้วนำมาศึกษาไตร่ตรองทดลองใหม่ ได้ฟักทองที่ให้ผลในเวลา 45 วันเป็นต้น 
      1.3 ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ ฝึกอบรมและสร้างสมประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น ช่างถ่ายรูปต้องเรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปก่อนแล้วมาฝึกการถ่ายรูปจนเกิดความชำนาญ ทำเป็นอาชีพได้
   2. วิริยะพละ หมายถึง ความเพียรพยายามที่เป็นพลัง ในการทำให้คนเราไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ โดยความเพียรนั้นต้องเป็นความเพียรชอบคือ
      2.1 เพียรพยายามไม่ให้เกิดความชั่ว ไม่ทำชั่วดูแลคนใกล้ชิดให้อบอุ่น ป้องกันให้ห่างไกลจากการคิดชั่ว ทำชั่ว เช่น ดูแลบุตรหลานไม่ให้ติดยาเสพย์ติด
      2.2 เพียรพยายามละความชั่วที่มีอยู่แล้ว เช่น ติดบุหรี่อยู่ก็เลิกเสีย
      2.3 เพียรสร้างความดี โดยการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี มีการเสียสละและช่วยเหลือส่วนรวมบ้าง เช่น การบริจาคโลหิต
      2.4 เพียรรักษาความดีและสร้างความดีเพิ่มขึ้น
คนเราเมื่อมีปัญญาก็จะรู้จักคิด หาเหตุผล รู้ปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จไปทุกอย่าง บางทีก็มีอุปสรรค เราจึงต้องมีความเพียรมีความบากบั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเราจึงจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ 
   3. อนวัชชพล หมายถึง การกระทำที่ไม่มีโทษเป็นกำลัง คือทำในสิ่งที่ดีที่เป็นมงคลผู้กระทำจะเกิดความเจริญก้าวหน้า การกระทำที่กล่าวนี้มี 3 ทางคือ
      3.1 กายกรรม คือการกระทำทางกาย เช่น การยืน การเล่น การสั่งสอน
      3.2 วจีกรรม คือการกระทำทางวาจาที่เป็นคำพูด เช่น การพูดคุย
      3.3 มโนกรรม คือ การกระทำทางใจ เช่น การนึกคิด การมีจิตเมตตา
   หลักเกณฑ์การพิจารณาว่า การกระทำใดเป็น อนวัชชพล
   1. ไม่ผิดกฏหมาย เช่น ฆ่าคน ค้ายาเสพย์ติด
   2. ไม่ผิดจารีตประเพณี เช่น การที่หญิงสาวบรรลุนิติภาวะ หนีตามผู้ชาย
   3. ไม่ผิดศีล เช่น พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา
   4. ไม่ผิดธรรม เช่น การโกรธ การคิดอิจฉาริษยา
   การกระทำทางกาย วาจาและใจที่ไม่มีโทษย่อมได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้อื่นและยังเป็นพลังให้ผู้กระทำดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย
   4. สังคหพละ หมายถึง การสงเคราะห์เป็นกำลังเพราะคนเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ก็ควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อสร้างความรักความสามัคคี ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมในการสงเคราะห์ผู้อื่น เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 ได้แก่
      4.1 ทาน คือ การให้โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ให้กับผู้ที่ต้องการ ผู้ที่เดือดร้อนขาดแคลนหรือผู้มีพระคุณ การให้อาจเป็นวัตถุสิ่งของ คำแนะนำหรือข้อคิด ของที่ให้ต้องไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ผู้ให้มีความสุขผู้รับก็พอใจ
      4.2 ปิยวาจา คือการใช้วาจาที่สุภาพประกอบด้วยเหตุผลที่มีประโยชน์ ฟังแล้วสร้างสรรใช้คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ไม่ใช้คำหยาบ ไม่นินทาผู้อื่น ผู้ที่มีปิยวาจาจะเป็นที่รักของผู้อื่น
      4.3 อัตถจริยา คือการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตามโอกาสอันควรในฐานะที่ต้องอยู่ร่วมสังคมกัน เช่น บริจาคของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
      4.4 สมานัตตตา คือ ความเสมอต้นเสมอปลาย ในการวางตนให้เหมาะสมกับสถานะของตนไม่หวั่นไหวตกอยู่ในความชั่วทั้งหลาย เช่น การทำตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ทุก ๆ วัน ไม่ใช่ทำตนดีเฉพาะวันพ่อหรือวันแม่เท่านั้น
   พละ 4 นี้เป็นธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจและปลอดภัยแล้วยังส่งเสริมให้เกิดความสงบสุขด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

-                   อธิษฐานธรรม 4
อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่า อธิษฐานธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ เพราะเป็นหลักธรรมประจำใจ เป็นเครื่องนำทางแห่งความประพฤติปฏิบัติของบุคคลให้ดียิ่งๆ ขึ้น

ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้สิ่งที่ควรรู้ หมายความว่า รู้ทั่วทุกด้าน รู้ทั้งเหตุทั้งผล รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ในสิ่งที่ควรรู้ทั้งคดีโลกทั้งคดีธรรม มีทั้งขั้นต่ำคือโลกิยปัญญา มีทั้งขั้นสูงคือโลกุตตรปัญญา

ในที่นี้จะอธิบายทั้งปัญญาในคดีโลกและคดีธรรม ปัญญาคดีโลกได้แก่ความรอบรู้ศิลปวิทยาสาขาต่างๆ ที่เป็นแนวทางประกอบสัมมา-อาชีพ ให้ทรัพย์สมบัติ และอิสริยยศ บริวารยศเกิดขึ้น ปัญญาคดีธรรมได้แก่ความรอบรู้เรื่อง ปาป-บุญคุณ-โทษ สุข-ทุกข์ ทั้งส่วนเหตุส่วนผล เรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น

สัจจะ แปลว่า ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง เรื่องสัจจะนี้มีทางอธิบายได้มาก ในที่นี้จะได้อธิบายเพียง ๓ อย่าง คือ
  • จริงการงาน ได้แก่ตั้งใจทำการงานที่ปราศจากโทษ งานที่มีประโยชน์ งานที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เกินขีดความสามารถ.
  • จริงความประพฤติ ได้แก่ประพฤติดีจริงทางกาย วาจา ใจจะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใดๆ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น.
  • จริงใจ ได้แก่ตั้งใจจริง คือตั้งใจว่าเราต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อการงานหน้าที่ ต่อเวลา และต่อบุคคล เราต้องจริงต่อความประพฤติ คือควบคุมตนเองให้ประพฤติดีเสมอไป

จาคะ ในที่อื่น แปลว่า สละให้ปันสิ่งของๆ ตนแก่ผู้อื่น แต่ในที่นี้ แปลว่า สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจหมายความว่า เมื่อบุคคลตั้งใจจริง กระทำสิ่งที่ดี ประพฤติดี มักจะมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางให้เสียการเสียงาน เสียความตั้งใจจริงไปบ้างไม่มากก็น้อย

อุปสรรคนั้น บางทีท่านเรียกว่า "มารคำว่า มาร แปลว่า ผู้ฆ่าพระ คำว่า พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้ดี ความดี ความประเสริฐ เช่นผู้ตั้งใจจะให้ทาน ก็มีความตระหนี่ เกิดเป็นมารขัดขวางไว้หรือฆ่าเสีย ผู้ตั้งใจจะรักษาศีล ก็มีความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง เป็นมารขวางไว้หรือฆ่าเสีย

อุปสมะ แปลว่า ความสงบใจจากที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ หมายความว่า การระงับ หรือการเข้าไประงับ ได้แก่การปราบ หรือการเข้าไปปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบความสงบตรงกับบาลีว่า สันติ มี ๓ อย่าง คือ สงบกาย สงบวาจา สงบใจ
  • สงบกาย นั้น ได้แกการกระทำทางกายดี สงบเรียบร้อย ไม่จุ้นจ้าน ล่วงละเมิดศีล ระเบียบ ประเพณีอันดีงาม
  • สงบวาจา นั้น ได้แก่การพูดดีเป็นวจีสุจริต พูดในกาลและสถานที่อันสมควร และไม่พูดในกาลและสถานที่อันไม่ควรพูด
  • สงบใจ นั้น ได้แก่การคิดดีเป็นมโนสุจริต และความที่จิตไม่ถูกข้าศึกรบกวน เป็นจิตใจที่สงบเยือกเย็นเป็นสุขผ่องใส ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆหมอก

ค่านิยม
-                   ความหมายและความสำคัญของค่านิยม
                ค่านิยม มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Value” และมาจากคำสองคำคือ ค่านิยมเมื่อคำสองคำรวมกันแปลว่า การกำหนดคุณค่า คุณค่าที่เราต้องการทำให้เกิดคุณค่า คุณค่าดังกล่าวนี้มีทั้งคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม ซึ่งคุณค่าแท้เป็นคุณค่าที่สนองความต้องการในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนคุณค่าเทียม หมายถึงคุณค่าที่สนองความต้องการอยากเสพสิ่งปรนเปรอชั่วคู่ชั่วยาม
                ค่านิยม หมายถึง ทัศนะของคนหรือสังคมที่มีต่อสิ่งของ ความคิด และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนา คุณค่าและความถูกต้องของสังคมนั้นๆ เช่น ชาวอเมริกันถือว่าประชาธิปไตยมีค่าสูงสุดควรแก่การนิยมควรรักษาไว้ด้วยชีวิต อเมริกันรักอิสระ เสรีภาพ และความก้าวหน้าในการงานเป็นต้น ส่วนค่านิยมของคนไทยหรือคนตะวันออกโดยทั่วไปนั้นแตกต่างจากค่านิยมในอเมริกันหรือคนตะวันตก เช่น คนไทยถือว่าความสงบสุขทางจิตใจและการทำบุญให้ทานเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา การเคารพเชื่อฟังบิดามารดาและการกตัญญูรู้คุณเป็นสิ่งที่ควรยกย่อง
                ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่บุคคลพอใจหรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แล้วยอมรับไว้เป็นความเชื่อ หรือความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ค่านิยมจะสิงอยู่ในตัวบุคคลในรูปของความเชื่อตลอดไป จนกว่าจะพบกับค่านิยมใหม่ ซึ่งตนพอใจกว่าก็จะยอมรับไว้ เมื่อบุคคลประสบกับ การเลือกหรือเผชิญกับเหตุการณ์ ละต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าจะนำค่านิยมมาประกอบการตัดสินใจทุกครั้งไป ค่านิยมจึงเป็นเสมือนพื้นฐานแห่งการประพฤติ ปฏิบัติของบุคคลโดยตรง
                ค่านิยม คือ ความคิด (Idea) ในสิ่งที่ควรจะเป็นหรือสิ่งที่ถูกต้องพึงปฏิบัติมีความสำคัญ และคนสนใจ เป็นสิ่งที่คนปรารถนาจะได้ หรืจะเป็นและมีความสุขที่จะได้เป็นเจ้าของ
                ค่านิยม หมายถึง ความเชื่อว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร ไม่ควร เช่น เราเชื่อว่าการขโมยทรัพย์ของผู้อื่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ดี
                ค่านิยม หมายถึงระบบความชอบพิเศษเพราะสิ่งที่เราชอบมาก เราจะให้คุณค่ามากกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ ค่านิยมอาจแบ่งเป็น  ประเภท ได้แก่
                ๑. ค่านิยมเฉพาะตัว (Individual Value)
                ๒. ค่านิยมสังคม (Social Value)
                ค่านิยมทางสังคม เป็นระบบความชอบพิเศษที่คนในแต่ละสังคมมีอยู่ ค่านิยมประเภทนี้เกิดจากการเรียนรู้จากสังคมในระดับต่าง ๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม เช่น นาย ก ชอบสิ่งใดมากก็จะทำสิ่งนั้นมากเป็นต้น ดังนั้นการสังเกตค่านิยม ของสังคมอาจพิจารณาได้จากพฤติกรรมเด่น ๆ ของสมาชิกในสังคมแล้วอนุมานมานว่า สังคมนั้นมีค่านิยมอย่างไร เช่น ค่านิยมสังคมไทยที่เป็นค่านิยมดั้งเดิม คือ ยึดถือตัวบุคคล ความรักสนุก และยึดทางสายกลาง เป็นต้น
ความสำคัญของค่านิยม
                อาจกล่าวได้ว่าค่านิยมมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรม ค่านิยมบางอย่างได้สร้างแก่นของวัฒนธรรมนั่นเอง เช่น ค่านิยมเรื่องรักอิสรเสรีของสังคมไทย ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมที่ทำอะไรตามใจคือไทยแท้เพราะฉะนั้นค่านิยมจึงมีความสำคัญมากและมีผลกระทบถึงความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม กล่าวคือ สังคมที่มีค่านิยมที่เหมาะสมและถูกต้อง เช่น ถ้าสังคมใดยืดถือค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ ความขยันหมั่นเพียร ความเสียสละ หรือความสามัคคี สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าแน่นอนแต่ในทางกลับกัน ถ้าสังคมใดมีค่านิยมที่ไม่สนับสนุนความเจริญ เช่น ค่านิยมที่เชื่อเรื่องโชคชะตาก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่กระตือรือร้น หรือเฉื่อยชา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา เป็นต้น
                อิทธิพลของค่านิยมต่อตัวบุคคล
                ค่านิยมไม่ว่าจะเป็นของบุคคลหรือค่านิยมของสังคม จะมีอิทธิพลต่อตัวบุคคล ดังนี้ คือ
                ๑. ช่วยให้บุคคลตัดสินใจว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ดีหรือไม่ดี มีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าควรทำหรือไม่ควรทำ
                ๒. ช่วยให้บุคคลในการกำหนดท่าทีของตนต่อเหตุการณ์ที่ตนต้องเผชิญ
                ๓. ช่วยสร้างมาตรฐาน และแบบฉบับจากการประพฤติปฏิบัติของบุคคล
                ๔. มีอิทธิพลเหนือบุคคลในการเลือกคบหาสมาคมกับบุคคลอื่น และเลือกกิจกรรม
ทางสังคม ซึ่งตนจะต้องเข้าไปร่วมด้วย
                ๕. ช่วยให้บุคคลกำหนดความคิดและแนวทางปฏิบัติ
                ๖. ช่วยเสริมสร้างหลักศีลธรรม ซึ่งบุคคลจะใช้ในการพิจารณา การกระทำของตนอย่างมีเหตุผล
-                   ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ
ความหมายของค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ
          คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการไว้ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2530, หน้า 25-103)

ค่านิยมพื้นฐาน ประการที่ 1 การพึ่งพาตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
          การพึ่งพาตนเอง หมายถึง การที่บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยราบรื่นไม่เดือดร้อน สามารถหาปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพมาได้ด้วยความสามารถของตนเองไม่เป็นภาระให้ผู้อื่นต้องคอยอุปถัมภ์สงเคราะห์
          ขยันหมั่นเพียร หมายถึง ความมีมานะพยายามในการประกอบงานทีสุจริต ด้วยความขยันขันแข็ง อดทน เอาใจใส่อยู่เป็นนิจ และเสมอต้นเสมอปลาย โดยใช้สติปัญญาเพื่อ ให้งานที่ทำบรรลุผลสำเร็จภายในเวลาอันสั้น และได้รับผลดีสูงสุด นอกจากนั้นยังรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
          ความรับผิดชอบ หมายถึง การมีความสำนึกและการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งที่เป็นภารกิจส่วนตัว ภารกิจที่ได้รับมอบหมายและภารกิจทางสังคม โดยจะต้องกระทำจนบรรลุ ผลสำเร็จไม่หลีกเลี่ยงภาระดังกล่าวและยอมรับผลในการกระทำของตน

ค่านิยมพื้นฐาน ประการที่ 2 การประหยัดและออม
          การประหยัดและออม หมายถึง การรู้จักใช้รู้จักออมทรัพย์สิน เวลา ทรัพยากร ทั้งส่วนตนและสังคมตามความจำเป็นให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งการรู้จักดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพฐานะความเป็นอยู่ส่วนตนและสังคม

ค่านิยมพื้นฐาน ประการที่ 3 การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย
          การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย หมายถึง การควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อตกลง ระเบียบแบบแผน และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เพื่อความสงบสุขในชีวิตของตน และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

ค่านิยมพื้นฐาน ประการที่ 4 การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
          การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา หมายถึง การให้ประชาชนมีศรัทธาและยึดถือปฏิบัติในแบบแผนความประพฤติที่ตั้งอยู่ในความดีงามและหลักธรรมของศาสนา

ค่านิยมพื้นฐาน ประการที่ 5 การมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
          ความรักชาติ หมายถึง การมีความรักไทย นิยมไทย สำนึก และภูมิใจในความเป็นคนไทย มีความผูกพันหวงแหนมาตุภูมิ มุ่งมั่นส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการรักเกียรติภูมิของชาติ
          ความรักสถาบันศาสนา หมายถึง การมีความรัก ความภาคภูมิใจ ความศรัทธา ในศาสนาที่ตนนับถือ รู้แก่นแท้ของศาสนา และยึดถือเป็นแนวทางในการประพฤติตนเพื่อพร้อมที่จะดำรงไว้ซึ่งสถาบันศาสนา
          ความรักสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง การมีความจงรักภักดี และศรัทธาในพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ

-                   ค่านิยมที่ครูควรยึดมั่น
        ค่านิยมของครู คือ แนวคิดหรือความประพฤติอันดีงามที่ครูควรยึดถือเป็นหลัก ประจำใจ และปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ยึดถือนั้นเป็นประจำ
ค่านิยมที่ครูควรยึดมั่น มีดังนี้
1.             การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
2.             การประหยัดและออม
3.             การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย
4.             การปฏิบัติตามศีล 5 ในพระพุทธศาสนา (หรือข้อกำหนดของศาสนาที่ครู นับถือ)
5.             ความซื่อสัตย์สุจริต
6.             ความยุติธรรม
7.             การรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์
8.             ความนิยมไทย
9.             การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย
10.      การศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพและความรอบรู้ทั่วไป
11.      ความมีสันโดษ
12.      การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการมีอิสรภาพทางวิชาการ
13.      ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน
14.      การมีอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ
15.      การยึดมั่นในคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ
16.      ความเสียสละ
17.      ความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลที่มีพระคุณและสิ่งแวดล้อม
18.      ความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
19.      ความกล้าหาญ กล้าพูดกล้าแสดงในสิ่งที่ถูกต้อง
20.      ความสามัคคี
21.      การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

-                   ค่านิยมที่ครูไม่ควรยึดมั่น
        ค่านิยมที่ครูไม่ควรยึดมั่น คือ สิ่งที่ครูไม่ควรจะยึดถือประจำใจ เพราะเห็นว่าไม่มี ความสำคัญต่อชีวิตความเป็นครูและการประกอบอาชีพการงานของครู
ค่านิยมที่ครูไม่ควรยึดมั่น มีดังนี้
1.             การถือฤกษ์ถือยาม
2.             ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
3.             ความฟุ่มเฟือย
4.             ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ
5.             ความนิยมของนอก
6.             การทำตัวตามสบาย
7.             การยึดสิ่งศักดิ์สิทธิ์
8.             การแสวงหาโชค
9.             การใช้สิ่งเสพติดมึนเมาเป็นสื่อสัมพันธ์มิตรภาพ
10.      การยกย่องผู้ประพฤติปฏิบัติผิดคุณธรรมให้เป็นบุคคลสำคัญ

-                   การพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครู
          การพัฒนา หมายถึง การทำให้เจริญขึ้น ถ้าเป็นการพัฒนาคน หมายถึง การทำให้ เกิดการเจริญงอกงามแก่ตน โดยมีลักษณะที่มีความเจริญงอกงามมาจากภายใน กล่าวคือ จิตใจของผู้ที่ได้รับการพัฒนานั้นยอมรับเพื่อความเจริญ หรือเพื่อสำเร็จตามจุดประสงค์ ของการพัฒนา การพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครูจึงหมายถึง การกระทำให้ครูยอมรับ ความสำคัญของวิชาชีพครู เพื่อความเจริญงอกงามของผู้ประกอบวิชาชีพครู และสถาบัน วิชาชีพครูด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครูก็คือ การทำความ เชื่อความมั่นใจในคุณค่าของความเป็นครูให้ดีขึ้น บุคคลที่ควรได้รับการพัฒนานั่น คือ นักศึกษาที่เลือกเรียนวิชาชีพครูพวกหนึ่ง กับครูอาจารย์ที่กำลังทำหน้าที่การสอนตาม โรงเรียนต่าง ๆ อีกพวกหนึ่ง
          ยนต์ ชุ่มจิต (2541: 180-183) กล่าวว่า ครูอาจารย์สามารถพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครู ให้สูงขึ้นได้ โดยการนำอาชีพทางการสอนหรือวิชาชีพครูไปเปรียบเทียบกับงานอื่น ๆ ใน ด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
1. เกียรติและศักดิ์ศรี
      การมีเกียรติและศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู มิใช่อยู่ที่การได้รับเงินเดือนครั้งละ มาก ๆ แต่อยู่ที่ความสุจริตของอาชีพ ตามพุทธภาษิตที่ว่าสุกัมมิโก กิตติมาเวหาติแปลว่าอาชีพที่สุจริตมีเกียรติทั้งสิ้น
2. เป้าประสงค์ของวิชาชีพ
      วิชาชีพหรืองานอาชีพบางอย่าง มีเป้าประสงค์เพื่อฐานะทางเศรษฐกิจหรือ ความร่ำรวยของผู้ประกอบอาชีพการทำงานนั้น ๆ ส่วนเป้าประสงค์ของวิชาชีพครูที่ แท้จริงมิได้อยู่ในฐานะความร่ำ รวย และการมีงานทำ ถือว่าเป็นเป้าประสงค์รอง เป้าประสงค์สูงสุดของครู คือ การยกระดับวิญญาณของศิษย์ไปสู่คุณธรรมอันสูงสุด
3. ความก้าวหน้าในอาชีพ
      ในบรรดาอาชีพรับราชการด้วยกัน อาชีพครูนับว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าอีก หลาย ๆ อาชีพ ทั้งในด้านการเงิน และระดับชั้น หลักฐานในเรื่องนี้จะสังเกตได้จาก มี บุคคลที่รับราชการอื่น ๆ พยายามหาโอกาสศึกษาต่อทางวิชาชีพครู เพื่อหาโอกาส สอบแข่งขันบรรจุเข้าเป็นครูกันจำนวนมาก
4. สถานภาพทางวิชาชีพ
      วิชาชีพครูได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่ง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทนายความ ตุลาการ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และผู้ตรวจสอบ บัญชี เพราะวิชาชีพเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการศึกษาเป็นระยะยาวนาน ต้องมีการฝึกฝน อบรม ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป จากการเปรียบเทียบงานอาชีพครูกับงานอาชีพอื่น ๆ ดังกล่าว มาแล้วจะเห็นว่าวิชาชีพครูมิได้มีความด้อยไปกว่าวิชาชีพอื่น ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นในด้าน ความมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในสังคม การกระทำประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมือง ความ เจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพหรือสถานภาพทางวิชาชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้นักศึกษาครู และครูอาจารย์ทุกคนจึงควรมีความมั่นใจ เชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นครู ปฏิบัติหน้าที่ ของครูอาจารย์ พัฒนาความสามารถในการสอน เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความ เจริญก้าวหน้าของตนเอง ของศิษย์และของชาติบ้านเมือง
         การพัฒนาค่านิยมในความเป็นครูนั้น นอกจากจะพัฒนาความรู้สึกของผู้ประกอบ วิชาชีพตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องกับครูทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน พัฒนาโดยอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้
1. ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาครูอาจารย์ทุกระดับชั้น จะต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง ที่ดีในด้านคุณธรรม จริยธรรม
2. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับจรรยามารยาทของครู เพื่อให้ครูอาจารย์ทุกระดับชั้นได้รับรู้ และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง หากครูอาจารย์บุคคลใดฝ่าฝืน หลังจากได้รับการว่ากล่าวตักเตือน พอสมควรแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรลงโทษตามความเหมาะสม
3. จัดกิจกรรมที่เป็นการเสริมสร้างค่านิยมและคุณธรรม ความเป็นครู เช่น การจัด ประกวดครูดีเด่นในด้านต่าง ๆ การฝึกอบรมมารยาทแก่ครู การฝึกสมาธิและการปฏิบัติธรรม หรือการฟังปาฐกถาธรรม เป็นต้น
4. จัดให้มีการทบทวน ชี้แจง ด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของครูอย่าง สม่ำเสมอ
5. ประกาศเกียรติคุณแก่ครูอาจารย์ ผู้มีความสามารถดีเด่นในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการ จัดให้มีการส่งเสริมสวัสดิการแก่ครูอาจารย์ และครอบครัวที่มีคุณธรรมดีเด่น เช่น การมอบ ทุนการศึกษาให้แก่บุตร เป็นต้น
6. การสอบบรรจุและการปฐมนิเทศครูบรรจุใหม่ ควรบรรจุเรื่องคุณธรรมและค่านิยม ของครูไว้ด้วย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ครูได้หันมาสนใจในสิ่งเหล่านี้บ้างตามสมควร
7. ทำการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไข ปรับปรุงคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมของครู
8. จัดหาเอกสารเพื่อการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมของครูอาจารย์ได้ อ่านกันอย่างทั่วถึง
9. สถาบันที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู ต้องเร่งรัดพัฒนาวิชาชีพครูให้ก้าวหน้าโดยการ ส่งเสริมความก้าวหน้าของครูอาจารย์ให้มากที่สุด
10. การให้ทุนและการให้งานแก่นักศึกษาที่เลือกเรียนครู วิธีการนี้จะช่วยให้บุคคลมี ความสนใจในความเป็นครูมากขึ้น เพราะมีเครื่องล่อใจ และจะได้บุคคลที่มีสติปัญญาค่อนข้างสูง รวมทั้งบุคคลที่มีความประพฤติและบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับความเป็นครูยิ่งขึ้น ตามวิธีการนี้ บุคคลที่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเข้าเรียน ควรจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยในระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายไม่ต่ำกว่า 3.00 เมื่อสอบคัดเลือกเข้าเรียนได้จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลการเรียนในแต่ละปีจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 หากทำไม่ได้ตามเกณฑ์ก็จะถูกตัดสิทธิในการรับ ทุน และการบรรจุเข้าทำงาน

-                   แนวคิดการปลูกฝังค่านิยมต่อศิษย์
แนวคิดวิธีการปลูกฝังค่านิยมเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ ศรัทธาและ ความเชื่อ ครูจะต้องเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียน โดยวิธีการต่อไปนี้
1. การอบรมสั่งสอน คือ พยายามยกตัวอย่างอธิบายที่เป็นรูปธรรมให้นักเรียนเห็น แนวความคิดทางปฏิบัติให้ได้ เช่น ต้องการให้นักเรียนเลิกเล่นการพนัน ครูต้องอธิบายให้เข้าใจ ว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงเลิกเล่นการพนันได้ ในการเรียนการสอนครูควรสอดแทรกค่านิยมที่ ดีไว้ด้วยเสมอและติดตามการปฏิบัติตัวของนักเรียนด้วย
2. การชักจูงให้เชื่อตาม ครูที่มีความสามารถชักจูงให้ศิษย์ประพฤติคล้อยตามได้ จะต้องเป็นครูที่สร้างศรัทธาหลาย ๆ ด้านต่อศิษย์ เช่น มีวาทศิลป์ มีจิตวิทยาสูง มีบุคลิกภาพ สอนดี และเป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อศิษย์เกิดความเชื่อถือแล้วครูย่อมจูงใจให้ประพฤติปฏิบัติ และ ยึดถือค่านิยมที่ดีได้ง่าย เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละ ความกล้าหาญ ตลอดจนสร้างค่านิยมในวัฒนธรรมไทย
3. การกระทำตัวเป็นตัวอย่าง พฤติกรรมของครูเป็นสิ่งสำคัญ ครูจะต้องทำตัวเป็น แบบอย่างอยู่เสมอ คือ ครูจะต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ศรัทธาของศิษย์จึงจะมีในตัวครู การ อบรมสั่งสอนใด ๆ ย่อมมีประโยชน์ ครูควรยึดมั่นในคุณธรรมย่อมเป็นแม่บทที่ดีในด้านความ ประพฤติของศิษย์ ความโน้มเอียงต่าง ๆ ของศิษย์ก็จะเป็นไปแต่ในทางที่ดีเช่นกัน
4. การให้รางวัลและลงโทษ เป็นวิธีการจูงใจเพื่อนำไปสู่จุดหมายที่ต้องการ หรือ ความต้องการที่มีผลตอบสนอง การจูงใจมีทั้งทางบวก เช่น การให้รางวัล การชมเชย เป็นต้น และการจูงใจในทางลบ เช่น การทำโทษ คาดโทษ ตำหนิ เป็นต้น การกระทำทั้งสองอย่างนี้ อย่า กระทำพร่ำเพรื่อ ควรดูโอกาสและเวลาที่เหมาะสมด้วย

-                   ค่านิยมและจริยธรรมที่ครูควรปลูกฝังแก่ศิษย์
ครูมีหน้าที่โดยตรง ในการปลูกฝังค่านิยมและจริยธรรม เพราะครูมีหน้าที่ในการ สอน อบรม สั่งสอน จึงควรถ่ายทอดค่านิยมและจริยธรรมให้แก่ศิษย์ ดังต่อไปนี้ คือ
1.             เคารพผู้อาวุโสและครูอาจารย์
2.             รักบิดามารดาและญาติพี่น้อง
3.             จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
4.             มาโรงเรียนด้วยเสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อย
5.             รักษาโรงเรียนและชั้นเรียนให้สะอาดเรียบร้อย
6.             นั่ง ยืน และเดิน ให้องอาจ มีสง่า
7.             บริหารร่างกายทุกวัน
8.             ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยตามกำหนด
9.             ตั้งใจเรียน
10.      เชื่อฟังคำแนะนำและประพฤติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ
11.      ประพฤติดีทุกวาระ